หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบัน แนวคิดทางภาษาศาสตร์ได้รับการเผยแพร่กว้างขวางและมีอิทธิพลต่อการผลิตบัณฑิตวิชาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ดังจะเห็นได้จากการบรรจุเนื้อหาวิชาภาษาศาสตร์ภาษาไทยเป็นรายวิชาบังคับในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตหรือศึกษาศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย) ในมหาวิทยาหลายแห่ง ทว่าปัญหาประการสำคัญ คือ ความรู้ทางภาษาศาสตร์เหล่านี้อาจไม่ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ต่อในการจัดการเรียนการสอนหลักภาษาไทยอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากความคิดเห็นตอบรับของผู้เรียนซึ่งมักปรากฏเป็นทัศนะเชิงลบต่อแนวคิดเรื่องหลักภาษาไทยว่าเป็นเนื้อหาที่ผู้สอนมีธงคำตอบของตนเองตายตัว ต้องท่องจำ รวมถึงไม่มีหลักเกณฑ์ให้ทำความเข้าใจ ทัศนะข้างต้นนี้ไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางภาษาศาสตร์ซึ่งเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางภาษาโดยปราศจากข้อตัดสินตายตัวลงไปว่าสิ่งใดถูกหรือผิด รวมถึงมีการแสดงข้อพิสูจน์อย่างเป็นระบบระเบียบให้สามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางภาษาได้
หลักสูตรการนำความรู้ทางภาษาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยซึ่งจะประกอบด้วยการอบรมแนวคิดเบื้องต้นรวมถึงการฝึกปฏิบัติวิเคราะห์เนื้อหากรณีปัญหาด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์จึงอาจช่วยเน้นย้ำความสำคัญของความรู้ทางภาษาศาสตร์ในส่วนที่สัมพันธ์กับการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนหลักภาษาไทย รวมถึงช่วยให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจเนื้อหากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการเรียนการสอนได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนหลักภาษาไทย รวมถึงอาจเปลี่ยนแปลงเจตคติที่ผู้เรียนมีต่อเนื้อหาหลักภาษาไทยได้ตามสมควร
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจแนวคิดทางภาษาศาสตร์เบื้องต้นในส่วนที่สัมพันธ์กับการเรียนการสอนหลักภาษาไทย
- เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถวิเคราะห์เนื้อหากรณีปัญหาในการเรียนการสอนหลักภาษาไทยด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์เบื้องต้นได้
หัวข้อการอบรม
- ไวยากรณ์แนวบัญญัติ (prescriptive grammar) และไวยากรณ์แนวบรรยาย (descriptive grammar)
- ระบบเสียงในภาษาไทย
- แนวคิดเบื้องต้นเรื่องระบบเสียงในภาษาไทย
- เนื้อหากรณีปัญหาเรื่องระบบเสียงในภาษาไทยและการฝึกวิเคราะห์ด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์
- การนำไปใช้ในการเรียนการสอน
- การสร้างคำในภาษาไทย
- แนวคิดเบื้องต้นเรื่องการสร้างคำในภาษาไทย
- เนื้อหากรณีปัญหาเรื่องการสร้างคำในภาษาไทยและการฝึกวิเคราะห์ด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์
- การนำไปใช้ในการเรียนการสอน
- ประโยคในภาษาไทย
- แนวคิดเบื้องต้นเรื่องประโยคในภาษาไทย
- เนื้อหากรณีปัญหาเรื่องประโยคในภาษาไทยและการฝึกวิเคราะห์ด้วยแนวคิดทางภาษาศาสตร์
- การนำไปใช้ในการเรียนการสอน
วิธีการอบรม
อบรมเชิงปฏิบัติการ (บรรยายและฝึกปฏิบัติ)
ระยะเวลาในการอบรม
1 วัน รวมเป็นจำนวน 6 ชั่วโมง
คุณสมบัติผู้เข้าอบรม
บุคคลทั่วไป จำนวนไม่เกิน 35 คน
ค่าลงทะเบียน
อบรมในห้องเรียน : –
อบรมออนไลน์ผ่าน Zoom : –
หนังสือสำคัญ
สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะออกหนังสือสำคัญให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมที่มีเวลาฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด