หลักการและเหตุผล
ทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นวิธีการหรือเครื่องมือประเภทหนึ่งในการดึงเอาความรู้หรือประสบการณ์ภายในตัวของผู้เล่าออกมาเล่า หรือถ่ายทอดให้บุคคลอื่นฟัง ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบต่าง ๆ ชวนให้ผู้ฟังประทับใจ ดังที่ Caine และคณะ กล่าวไว้ว่า เทคนิคการเล่าเรื่องนับเป็นวิธีแรกๆ ที่ผู้คนสามารถเข้าถึง แสดงออก และเก็บข้อมูลหรือองค์ความรู้ต่างๆ ไว้ได้ การเล่าเรื่องที่ดีทำให้ความรู้หรือประสบการณ์ของผู้เล่านั้นเกิดความน่าสนใจ เห็นภาพชัดเจน ปลุกเร้าอารมณ์ให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้เล่าต้องการ ตลอดจนสามารถสร้างมูลค่าให้แก่เรื่องเล่าได้
เรื่องสั้น (Short story) นับเป็นรูปแบบของการเล่าเรื่องแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมานับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีโครงเรื่องไม่ซับซ้อน ตัวละครไม่มากนัก ส่งผลให้วิธีการเล่าเรื่องสั้น กระชับ สามารถถ่ายทอดความคิดสำคัญได้อย่างตรงประเด็นเหมาะสมกับยุคสมัย เรื่องสั้นจึงเป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมในการเขียน-การอ่าน สังเกตได้จากการมีพื้นที่ตีพิมพ์ในหน้านิตยสารต่าง ๆ ตลอดจนการจัดประกวดวรรณกรรม การให้รางวัลทางวรรณกรรม เช่น รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ รางวัลวรรณกรรมการเมืองพานแว่นฟ้า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ก็ล้วนแต่มีการให้รางวัลประเภทเรื่องสั้นอยู่เสมอ
ดังนั้น ทักษะการเล่าเรื่องในรูปแบบเรื่องสั้นจึงนับว่าเป็นทักษะที่น่าสนใจและควรเรียนรู้อย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นเขียนหรือผู้ที่สนใจในการเขียนเพื่อการถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์ภายในตัวของผู้เล่าให้เป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจ สร้างแรงบันดาลใจ หรือนำไปประยุกต์ใช้กับวัตถุประสงค์อื่น ๆ ได้ เช่น การจัดทำสื่อการเรียนการสอน หรือสร้างมูลค่าในรูปแบบสื่อบันเทิงอื่น ๆ ในอนาคต
วัตถุประสงค์
- เพื่อเรียนรู้ลักษณะของเรื่องสั้นและเทคนิคการเขียนเรื่องสั้น
- เพื่อให้ผู้เรียนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวหรือประสบการณ์ออกมาเป็นเรื่องสั้นได้
หัวข้อการอบรม
- ถ้อยคำและเรื่องเล่า สิ่งประดิษฐ์ทรงคุณค่าของมนุษย์
- ความหมายและลักษณะของเรื่องสั้น
- วิธีการเขียนเรื่องสั้น
- การดัดแปลงแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์เรื่องสั้น
วิธีการอบรม
อบรมเชิงปฏิบัติการ (บรรยายความรู้และฝึกปฏิบัติ)
ระยะเวลาในการอบรม
1 วัน รวมเป็นจำนวน 5 ชั่วโมง
คุณสมบัติผู้เข้าอบรม
บุคคลทั่วไป จำนวนไม่เกิน 30 คน
ค่าลงทะเบียน
อบรมในห้องเรียน : –
อบรมออนไลน์ผ่าน Zoom : –
หนังสือสำคัญ
สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะออกหนังสือสำคัญให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมที่มีเวลาฝึกอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งหมด