
ภาษาไทยเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันของคนในชาติ จึงสมควรที่จะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเทคนิคใหม่ ๆ ในการติดต่อสื่อสารซึ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้น ภาษาไทยก็ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของความเจริญก้าวหน้าดังกล่าว ทำให้ภาษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี กล่าวคือ อาจทำให้เกิดการใช้ถ้อยคำใหม่ ๆ ที่สอดรับกับความรู้ทางวิชาการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมอันเป็นผลจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในการสื่อสารได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับภาษาไทยในด้านต่าง ๆ ก็จะทำให้คนในชาติสามารถใช้ภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติในการติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้บรรลุวัตถุประสงค์ และจะทำให้ภาษาไทยดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนและทรงคุณค่า เพื่อเป็นการสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภาษาไทยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาตินี้มีความสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระนามในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในปัญหาการใช้ภาษาไทยจนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เรื่องการจัดตั้ง “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อกระทรวง ทบวง กรม ได้ทราบทั่วกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยอันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
ที่มา :
http://www.cu100.chula.ac.th/story/464/
https://www.m-culture.go.th/mculture_th60/ebook/B0373/#p=12
http://pasathai.net/