ประวัติความเป็นมา
สถาบันภาษาไทยสิรินธรเดิมมีชื่อว่าศูนย์ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร สังกัดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยมีนโยบายที่จะพัฒนาให้นิสิตและบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความสามารถในการใช้ภาษาไทยเพื่อแสวงหาความรู้และเพื่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี หลังจากที่ศูนย์ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารได้ดำเนินงานไประยะหนึ่ง ศูนย์ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานในการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาไทยให้กว้างขึ้นกว่าการพัฒนานิสิตและบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากได้รับการติดต่อจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ให้ช่วยพัฒนาความสามารถของบุคลากรในหน่วยงานเหล่านั้นในด้านการใช้ภาษาไทยในที่ทำงาน จึงอาจกล่าวได้ว่าศูนย์ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารนั้นไม่เพียงแต่มีภารกิจในด้านการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถการใช้ภาษาไทยแก่นิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังให้บริการด้านวิชาการแก่หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ศูนย์ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นศูนย์ระดับมหาวิทยาลัยเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงมีพระราชปณิธานในการธำรงไว้ซึ่งภาษาของชาติ มีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยใช้ชื่อใหม่ว่า ศูนย์ภาษาไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีเดียวกันนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามมาเป็นชื่อใหม่ของศูนย์ว่า ศูนย์ภาษาไทยสิรินธร ทั้งยังทรงมีพระกรุณาธิคุณเสด็จมาเจิมป้ายชื่อศูนย์และทรงเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2550
เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีของการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ภาษาไทยสิรินธรได้พิจารณาเห็นอีกทิศทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาไทยของคนไทยทั่วไป กล่าวคือการจัดให้มีการทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยของคนไทยในทักษะการฟัง การอ่าน และการเขียน ผลการทดสอบจะแสดงระดับความสามารถของผู้เข้ารับการทดสอบซึ่งจะชี้ได้ว่าต้องพัฒนาทักษะด้านใดหรือไม่ และความสามารถนั้นเหมาะกับการทำงานในรูปแบบใด
ศูนย์ภาษาไทยสิรินธรได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการตามแผนพัฒนาวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ 100 ปี) ดำเนินการจัดทำโครงการสร้างแบบทดสอบมาตรฐานเพื่อวัดสมรรถภาพในการใช้ภาษาไทย โดยได้เริ่มศึกษาวิจัยเพื่อสร้างและพัฒนาแบบทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยสำหรับผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ และสำหรับผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ ใน พ.ศ. 2550 จนกระทั่งโครงการวิจัยเสร็จสิ้นลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ศูนย์ภาษาไทยสิรินธรจึงได้เริ่มจัดทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาไทยของคนไทยได้อย่างเต็มรูปแบบ มีส่วนในการกระตุ้นความสนใจในการพัฒนาการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ศูนย์ภาษาไทยสิรินธรยังได้จัดทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยสำหรับผู้พูดภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศใน 4 ทักษะ คือ การฟัง การอ่าน การเขียน และการพูด โดยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในการจัดทดสอบสมรรถภาพภาษาไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายการจัดทดสอบในต่างประเทศ ดังนี้
- ศูนย์ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
- มหาวิทยาลัยคันดะนานาชาติศึกษา ประเทศญี่ปุ่น
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติเกาสง (National University of Kaohsiung) ไต้หวัน
จากการขยายขอบเขตงานและภารกิจอย่างต่อเนื่องของศูนย์ภาษาไทยสิรินธรนี้เอง ทำให้ศูนย์ภาษาไทยสิรินธรได้รับการอนุมัติจากการประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 740 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ให้เปลี่ยนสถานภาพเป็น สถาบันภาษาไทยสิรินธร และใน พ.ศ. 2561 สถาบันภาษาไทยสิรินธรได้รับมอบหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการกำหนดมาตรฐานกลางของประเทศในการทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยแห่งชาติ” ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำกระบวนการทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารอันเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและในการประกอบวิชาชีพสำหรับชาวไทยและผู้สนใจชาวต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการจัดตั้ง “ศูนย์ทดสอบภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาและการยกระดับมาตรฐานการทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กล่าวโดยสรุปได้ว่า จนถึงปัจจุบัน สถาบันภาษาไทยสิรินธรได้มีผลการดำเนินงานในลักษณะการสร้างรูปแบบ นวัตกรรมใหม่ในด้านการเรียนการสอน การทดสอบในระดับอุดมศึกษา มีบุคลากรที่มีความสามารถและความมุ่งมั่น เป็นฐานพอที่จะขยายขอบเขตการดำเนินงานให้สามารถจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีพันธกิจในระดับชาติ เป็นที่พึ่งของสังคมตามปณิธานของมหาวิทยาลัย โดยเป็นส่วนงานที่จะเป็นแหล่งสร้างความรู้ทางการใช้ภาษาไทย และเป็นแหล่งที่จะพัฒนาไปสู่การทำให้เกิด “ปัญญาของชาติ” ผ่านการพัฒนาความสามารถทางการใช้ภาษาไทย ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในการมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติและสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ได้
คติพจน์
ภาษาไทยเป็นปัญญาและภูมิคุ้มกันของชาติ
พันธกิจ
สถาบันภาษาไทยสิรินธรเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยในการสร้างรูปแบบและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย และพัฒนาคนไทยให้มีทักษะการใช้ภาษาไทย รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคภูมิใจในภาษาไทยอันเป็นภาษาประจำชาติ
วัตถุประสงค์
- เป็นศูนย์กลางความรู้และการวิจัยด้านการใช้ภาษาไทย การสร้างรูปแบบและนวัตกรรมการเรียนการสอน การสร้างแบบทดสอบและวิธีการทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยที่เป็นมาตรฐาน
- จัดทำหลักสูตรรายวิชาที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาไทยแก่ผู้เรียนทุกระดับการศึกษา รวมทั้งครูภาษาไทยและบุคคลทั่วไป
- ขยายโอกาสทางการศึกษา โดยจัดทำหลักสูตรรายวิชาการใช้ภาษาไทยด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนภาษาไทย
- เป็นศูนย์ทดสอบสมรรถภาพการใช้ภาษาไทยแห่งชาติที่มีมาตรฐานสากล
- เผยแพร่ความรู้และรณรงค์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมด้วยกิจกรรมและการให้บริการวิชาการเชิงรุก
- สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานทุกด้านทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
การดำเนินงานของสถาบันภาษาไทยสิรินธรมีขอบเขตการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ
- การวิจัย
- การทดสอบสมรรถภาพภาษาไทย
- การจัดการศึกษา
- การบริการวิชาการ
แผนภาพแสดงการดำเนินงานของสถาบันภาษาไทยสิรินธร
โครงสร้าง
แผนภาพแสดงโครงสร้างของสถาบันภาษาไทยสิรินธร